agricultural

ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเกษตรกรรม เชื่อว่าทุกคนรู้ดี แต่วันนี้ ไทยกำลังจะขยับสู่เทรนด์ “Smart Farmer” แล้ว มีใครรู้หรือยัง? เริ่มต้นจากความร่วมมือครั้งแรกของ 3 หน่วยงาน ได้แก่… สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) กลุ่มมิตรผล และ IBM นำร่องเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” ในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง “อ้อย” ให้มีผลผลิตและประสิทธิภาพในการรับมือกับธรรมชาติได้มากขึ้น

อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ใช้ในการผลิตน้ำตาลและพลังงานชีวภาพทั้งในไทยและทั่วโลก โดยปัจจุบัน ไทย เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของโลก และยังมีบทบาทสำคัญในการป้อนน้ำตาลสู่ตลาดโลก โดยปี 2560 มีส่วนแบ่งตลาดถึง 9.4% อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าไทยจะสามารถผลิตน้ำตาลได้ถึง 14.1 ล้านเมตริกตันในปี 2561 – 2562 หรือเพิ่มขึ้นราว 3% จากปีที่ผ่านมา

สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ คือ กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกและรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย จะอยู่ในฐานะเจ้าของข้อมูลมหาศาล ที่ได้จากการเครื่องมือที่ติดตั้งในไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการ ส่วน IBM ก็เป็นเจ้าของเทคโนโลยีทั้ง Big Data, Analytic, AI, IoT ที่นำมาใช้ในโครงการความร่วมมือนี้ ขณะที่ สวทช. ก็มีบทบาทหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้การวิจัยและการพัฒนาประเทศ โดยทั้ง 3 หน่วยงาน ทำหน้าที่ ร่วมลงทุน” และนำร่องพัฒนาแดชบอร์ดอัจฉริยะและแอปพลิเคชันมือถือ เพื่อทำให้ผู้เชี่ยวชาญได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอ้อย อาทิ ความชื้นของดิน ความเสี่ยงในการถูกโจมตีจากโรคและศัตรูพืช การคาดการณ์ผลผลิต และดัชนีคุณภาพความหวานของอ้อย จากข้อมูลการประมวลผลจากเทคโนโลยี AI และข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำที่สุดของโลกจาก The Weather Company รวมถึงเทคโนโลยี IoT และ Analytic

NSTDA_MitrPhol_IBM_01

ความร่วมมือระหว่าง สวทช. กลุ่มมิตรผล และ IBM

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือครั้งนี้มีกรอบเวลา 2 ปี และดำเนินงานผ่านไร่อ้อย 2,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มมิตรผลและเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์จะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูล เพื่อประเมินและจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถวางแผนและรับมือกับภัยคุกคามที่อาจทำให้สูญเสียผลผลิตได้ดีขึ้น

“ไทย” ประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิก ที่ใช้ IBM Watson กับเกษตร

คุณปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ IBM ประเทศไทย อธิบายว่า เป้าหมายของความร่วมมือในครั้งนี้คือการนำข้อมูลเชิงลึกเป็นเครื่องมือเสริมศักยภาพทำไร่อ้อยให้เกษตรกรไทย และเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันให้การเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ซึ่งการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้งานในครั้งนี้ ถือเป็นการพลิกโฉมสู่ก้าวใหม่ของ Smart Farmer ในประเทศไทย

ปฐมา จันทรักษ์ IBM

คุณปฐมา จันทรักษ์ จาก IBM

ส่วนเทคโนโลยีของ IBM จะเป็นการนำแพลทฟอร์ม Agonomic Insights Assistant ซึ่งนักวิจัยของ IBM กำลังพัฒนาภายใต้แพลทฟอร์มวัตสัน IBM Watson Decision Platform for Agriculture ซึ่งร่วมกับระบบที่เรียกว่า IBM PAIRS Geoscope การผสานข้อมูลความสัมพันธ์เชิงเวลาและพื้นที่ เช่น ภาพถ่ายพืชผลจากกล้องหลายช่วงคลื่นที่เก็บภาพมาจากดาวเทียมจำนวนมาก ข้อมูลดิน ข้อมูลแบบจำลองความสูงของภูมิประเทศในรูปแบบดิจิทัล ร่วมกับข้อมูลทางการเกษตร เช่น สุขภาพของอ้อย ระดับความชื้นของดิน เป็นต้น โดยใช้โมเดลของ The Weather Company ก่อนนำไปใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมกับการทำไร่อ้อยในประเทศไทยโดย สวทช. และความรู้เฉพาะทางด้านการเกษตรจากกลุ่มมิตรผล ร่วมกันกลั่นกรองเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะขาดน้ำและอาหาร ที่ส่งผลต่อการเติบโตของอ้อย ความเสี่ยงของโรคและศัตรูพืช ปริมาณผลผลิต และดัชนีคุณภาพอ้อย

“เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาเพื่อแทนที่มนุษย์ แต่เข้ามาช่วยทำงาน ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาสร้างผลลัพธ์ในอนาคต ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น หากเราทำสำเร็จในการเริ่มต้นด้วยอ้อยก็เชื่อว่าจะสามารถต่อยอดสู่พืชเศรษฐกิจอื่นหรือพืชอื่นเป็นแนวทางการใช้เทคโนโลยีกับการเกษตรต่อไป และวันนี้ AI กลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายแต่การนำข้อมูลไปใช้งานนั้นยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ประกอบกับไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นครัวของโลก ทำให้เราต้องการผลักดันเทคโนโลยีให้มีบทบาทในทุกอุตสาหกรรมของไทยอย่างแพร่หลาย หากพูดถึงเรื่องเกษตรกรไทยกับการใช้แดชบอร์ด เมื่อ 10 ปีที่แล้วคงเป็นเรื่องตลก แต่วันนี้เราได้เห็นเกษตรกรมีสมาร์ทโฟน ถือมือถือดูข้อมูลจากระบบออนไลน์ได้ด้วยตัวเองแล้ว”

ส่วนสาเหตุที่เริ่มต้นการใช้เทคโนโลยีกับอ้อย เนื่องจากกลุ่มมิตรผลเป็นผู้สนับสนุน ทั้งพื้นที่จัดเก็บข้อมูลผ่านไร่อ้อยกว่า 2,000 ไร่ และยังเปิดให้เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทางการเกษตรอีกด้วย

“มิตรผล” สมประโยชน์! เพิ่มศักยภาพผลผลิต

รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต กลุ่มมิตรผล

รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต จากกลุ่มมิตรผล

รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต Head of Innovation and Research Development Institute กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมและงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังพยายามผลักดันให้นำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ผลผลิตอ้อยทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ IBM ในครั้งนี้ ที่นำเทคโนโลยี AI การสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม และระบบพยากรณ์อากาศขั้นสูงของ IBM มาสร้างการทำเกษตรแม่นยำ เพื่อพัฒนาเกษตรกรไทยสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ Modern Farming ได้รวดเร็วขึ้น

“ที่ผ่านมาเรามีข้อมูลจำนวนมากที่ไม่เคยนำมาใช้งานเลย ความมุ่งหวังจากโครงการนี้ คือ การเพิ่มจำนวนผลผลิต สามารถคาดการณ์ความหวานของอ้อยได้ และมีข้อมูลรับมือการเกิดภัยคุกคามจากโรคและศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

หวังเกษตรกรรมไทยเข้าสู่ Smart Farmer อีก 10 ปีจากนี้

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย NECTEC

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย จาก NECTEC

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับเกษตรกรรมมีน้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับจำนวนทั้งประเทศ แต่เชื่อว่าประเทศไทยสามารถเข้าสู่เทรนด์การเกษตรอัจฉริยะได้ภายใน 10 ปีจากนี้

“ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรไทยไม่กล้านำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานกับการทำเกษตรกรรม เนื่องจากไม่มั่นใจว่าเทคโนโลยีจะสร้างประโยชน์ให้พวกเขาได้จริงและกังวลว่าต้องทำอย่างไร การร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลและ IBM ในครั้งนี้จะกลายเป็นต้นแบบให้เกษตรกรไทยได้เห็นความสำเร็จ และเปิดใจยอมรับเทรนด์ Smart Farmer เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ที่มา: https://www.marketingoops.com/digital-life/nstda-collab-with-mitrphol-group-and-ibm-for-agricultural-development/