สำหรับ "นวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ" พัฒนาขึ้นมาโดย “นายนริชพันธ์ เป็นผลดี” นักวิจัยของ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC: Thai Microelectronics Center) สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นายนริชพันธ์ เล่าว่า ได้รับมอบหมายให้ช่วยออกแบบเทคโนโลยี ระบบ Hendy Sense ระบบควบคุมการจัดการโรงเรือนอัตโนมัติ เพื่อช่วยในการปรับสภาพแวดล้อมโรงเรือนให้เหมาะสมกับชนิดของพืชที่ปลูก, ระบบการให้น้ำอัตโนมัติขึ้นกับค่าความชื้นในดินทำให้บริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบจะสามารถควบคุมบริหารจัดการการเพาะปลูกได้ทุกที่และทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน รวมไปถึงการให้คำปรึกษาการออกแบบโรงเรือนให้เหมาะสมตามชนิดของพืชที่ปลูก ซึ่งในปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรนำระบบดังกล่าวไปใช้งานจริงแล้วในหลายพื้นที่มากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ

ส่วน ลักษณะของ นวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ เป็นการออกแบบโรงเรือนระบบปิดซึ่งระบบควบคุมการจัดการโรงเรือนอัตโนมัติ ตามชนิดของพืช ด้วยระบบ IOT จัดการน้ำ ปุ๋ย อุณหภูมิ ความชื้น ในโรงเรือน โดยโปรแกรมควบคุมผ่าน smartphone โดยโรงเรือนจะปรับสภาพแวดล้อม ด้วยการออกแบบความสูงที่เหมาะสม ลดความร้อน มีระบบอัตโนมัติควบคุม การทำงานพัดลมดูดอากาศร้อนใต้หลังคา ระบบปรับลดอุณหภูมิให้กับพืช และม่านบังแสงภายในโรงเรือน วัสดุประกอบโรงเรือน ที่ได้มาตรฐานและคุณภาพสากล ด้วยเหล็กมีคุณภาพดีเหมาะสมกับงานด้านการเกษตร และระบบการให้น้ำในโรงเรือนแบบครบวงจร ออกแบบให้เหมาะสมตามชนิดของพืชและพื้นที่การเพาะปลูก ไม่ต้องห่วงเรื่องพืชขาดน้ำ/ปุ๋ย

ทั้งนี้ ระบบ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ที่เรากำลังพูดถึงในครั้งนี้ ทางศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเลกทรอนิกส์ ได้ใช้ชื่อว่า Agri-beyond เป็นระบบที่สามารถติดตามข้อมูลสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทางการเกษตรรวมถึงการใช้งานด้านอื่นๆ ได้หลากหลาย โดยใช้เซ็นเซอร์ที่เหมาะสมในการวัดอุณหภูมิ และความชื้นอากาศ ความเข้มแสง ความชื้นดิน ปริมาณน้ำฝน ความเร็วและทิศทางลม เป็นต้น

โดยคุณสมบัติเด่น ของ Agri-beyond ติดตามข้อมูลสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ในช่วงเวลาเดียวกัน แบบ Real time monitoring ตั้งค่าที่ต้องการควบคุม (lower-upper limit และแจ้งเตือนในกรณีที่ค่าต่างๆที่กำลังติดตามออกนอกช่วงควบคุมที่ตั้งไว้ บันทึกข้อมูลได้ถึง 1 ปี มีฟังก์ชันในการสั่งงานอุปกรณ์ต่างๆ ตามค่าที่เซนเซอร์ วัดได้ และอุปกรณ์ Agri – beyond นี้ ยังสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์และรับส่งข้อมูลระหว่างกันด้วยเทคโนโลยีไร้สาย เช่น WiFi เป็นต้น สามารถส่งข้อมูล แจ้งเตือน และสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายใช้งานสะดวก

สำหรับราคาอุปกรณ์กล่องควบคุมดังกล่าว อยู่ที่ 20,000 บาท ซึ่งสามารถควบคุมการปลูกพืชในโรงเรือน และพืชที่ปลูกนอกโรงเรือน ควบคุมได้ในพื้นที่ หรือ โรงเรือนที่อยู่ในบริเวณเดียวกันเท่านั้น โดยไม่ได้จำกัด ว่าจะควบคุมได้ในพื้นที่เท่าไหร่ แต่ขอให้อยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน ซึ่ง ระบบดังกล่าว ช่วยให้การปลูกพืชบางชนิดที่ต้องอาศัยภูมิอากาศที่เหมาะสม อย่างพืชเมืองหนาว สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ เพียงแต่ใช้การควบคุมอุณหภูมิ และปลูกในโรงเรือน ที่สำคัญคือ ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแปลงเกษตรที่ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ได้แก่ โรงเรือนปลูกมะเขือเทศสีดา เมล่อน ผักสลัด ฯลฯ หลังจากติดอุปกรณ์ดังกล่าว ช่วยให้คนสูงอายุ สามารถทำการเกษตรได้ โดยไม่ต้องจ้างแรงงาน และผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ ทาง ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเลกทรอนิกส์ ได้ทำการอบรมเกษตรกร ในโครงการฟาร์มแม่นยำ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้เงินทุนสนับสนุน ในการลงทุนอุปกรณ์ให้ก่อน และให้เกษตรกรผ่อนชำระ ในภายหลัง

 

ที่มา: https://mgronline.com/smes/detail/9600000085732