• โดรนเพื่อการเกษตร

ในยุคนี้ เชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จัก โดรน (Drone) เพราะนวัตกรรมสุดล้ำนี้ได้เข้ามามีบทบาทในภาคการเกษตรมากมาย โดยเฉพาะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำ เกษตรแบบแม่นยำ ได้มากโข ไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำ การพ่นยา การให้ปุ๋ย การถ่ายภาพวิเคราะห์เพื่อตรวจโรคพืช ซึ่งทำให้เกษตรกรประหยัดเวลาการทำงาน ประหยัดแรงงานทั้งยัง มีความปลอดภัยต่อผู้ฉีดมากกว่าการฉีดพ่นสารแบบดั้งเดิม หรือการใช้คนเดินฉีดด้วย

เพราะในการทำงาน ผู้ที่ทำการบังคับการบินของโดรนจะอยู่ด้านนอกแปลง จึงไม่สัมผัสกับสารที่ฉีดพ่น นอกจากนี้การพ่นยายังให้ละอองที่ละเอียดมาก เข้าถึงใบพืชทั่วถึง สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้สารเคมีได้น้อยลงถึง 50% ทำให้เกษตรกรสามารถดูแลรักษา และควบคุมผลผลิตคุณภาพการผลิตได้อย่างแม่นยำ

  • เครื่องพยากรณ์โรคข้าว

เมื่อ ข้าว ยังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย นวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการปลูกข้าว จึงยังเป็นที่ต้องการของชาวนาไทย ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์จากภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้คิดค้น เครื่องพยาการณ์การเกิดโรคในนาข้าว ซึ่งประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ ทั้งเรื่องของอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน ที่ทำงานโดยอาศัยแบตเตอรี่พลังงานโซลาร์เซลล์ 

และทันทีที่เซ็นเซอร์ทำงาน ก็จะส่งสัญญาณไร้สายเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ในบ้าน พร้อมส่งข้อมูลประมวลผลเข้าสู่เว็บไซต์ที่มีฐานข้อมูลสถิติ ทำให้เกษตรกรสามารถดูข้อมูลแบบ Real Time ผ่านสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา จากนั้นโปรแกรมจะวิเคราะห์ว่าอากาศแบบนี้มีแนวโน้มจะเกิดโรคอะไรตามมาในอีกกี่วัน พร้อมแจกแจงแนวทางป้องกันได้อีกด้วย ทำให้ช่วยลดการใช้ยา สารเคมี เสมือนมีภูมิคุ้มกันชั้นดีติดตัว

  • ระบบควบคุมน้ำ อุณหภูมิ และความชื้น ผ่านแอปพลิเคชัน

การจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งนับเป็นปัญหาหนักอกของเกษตรกรไทยมาโดยตลอด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ “สมาร์ทฟาร์มคิท (Smart Farm Kit)” ระบบควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะต้นทุนต่ำ ช่วยบริหารจัดการระบบการใช้น้ำที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดการใช้น้ำในการเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า จากที่เคยใช้อยู่

ด้วยการทำงานร่วมกันของระบบตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำ ที่สามารถสั่งตั้งเวลาเปิด-ปิดปั๊มน้ำได้ตามความต้องการของชนิดพืช ระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ ที่ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นว่าหากต่ำกว่าที่กำหนด ระบบก็จะสั่งรดน้ำโดยอัตโนมัติ และระบบสั่งการและแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน ที่ช่วยส่งข้อความแจ้งเตือน พร้อมแสดงผลสภาพอากาศบริเวณพื้นที่แปลงเกษตรผ่านระบบสมาร์ทโฟนของเกษตรกร ได้ด้วย

 

ที่มา: https://www.salika.co/2019/04/29/smart-agriculture-trend-2019/