Digital Farmer และ Internet of Things (IoT) เป็นคำศัพท์ที่เริ่มได้ยินมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปข้างหน้า อย่าง IoT ผนวกรวมกับความรู้ความสามารถของเกษตรกรไทย จึงทำให้ Digital Farmerกลายเป็นจริงอย่างจับต้องได้ในยุคปัจจุบัน

IoT คือ เทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ กับสมาร์ตโฟน และโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อมีทั้ง 3 อย่างครบก็จะช่วยให้การทำงานในชีวิตประจำวันง่ายขึ้น ปัจจุบัน IoT นั้นเข้าไปอยู่ในบ้านของใครหลายคนแล้ว โดยที่คุณอาจจะไม่รู้มาก่อนว่าสิ่งเหล่านั้นคือ IoT ยกตัวอย่างเช่น เครื่องปรับอากาศที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ กรณีที่คุณขับรถกลับบ้านมาเหนื่อย ๆ อยากกลับไปเจอห้องที่เย็นสบาย คุณก็สามารถสั่งการผ่านสมาร์ตโฟน ของคุณได้เลยนั่นเอง

หลายคนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของ IoT กันบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาช่วย

เกษตรกรไทยได้อย่างไรกัน?

อยากให้ทุกคนเข้าใจคำว่า Digital Farm กันก่อน Digital Farmหรือเรียกกันอีกอย่างว่าSmart Farm : “เกษตรอัจฉริยะ” นั้นคือการทำการเกษตรที่นำเทคโนโลยีอย่าง IoT เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การทำไร่ ทำนา หรือทำสวน ซึ่งช่วยให้ใช้แรงงานคนน้อยลง ประหยัดเวลามากขึ้น ช่วยลดต้นทุน เพิ่มกำไรให้มากขึ้น เพราะคุณสามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติและรับรู้ได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้สามารถรับมือกับทุกปัญหาได้ เทคโนโลยีของ IoT จะเข้ามาทำหน้าที่ในหลากหลายส่วนตั้งแต่เริ่มวางแผนเพาะปลูกเลยทีเดียว โดยจะเริ่มต้นจากการวิเคราะห์และวางแผนการเพาะปลูกอย่างถูกต้องเหมาะสมในพื้นที่ของตัวเองด้วยการนำข้อมูลของภูมิอากาศและภูมิประเทศทั้งในระดับพื้นที่ย่อย (Microclimate), ระดับไร่ (Mesoclimate) และระดับมหภาค (Macroclimate) อย่างเช่น อุณหภูมิ, ความชื้นในดินและอากาศ, สภาพแสง, ลม, ปริมาณน้ำฝน ฯลฯ จากดาวเทียมมาวางแผนในการบริหารจัดการ อย่างการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ให้ยา และเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้ากับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต อย่างที่บอกในข้างต้น IoT ยังช่วยในการสั่งการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆได้ ดังนั้นการเริ่มต้นเป็น Digital Farmer อาจเริ่มต้นจากส่วนที่มีอยู่ได้ดังนี้

  • ติดตามสภาพดิน: ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบคุณภาพดิน ความชื้น แร่ธาตุ เพื่อวิเคราะห์ว่า พื้นที่ของเกษตรกรนั้นควรปลูกพืชชนิดใด และควรปรับปรุงดินอย่างไรให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชชนิดนั้นๆ
  • ควบคุมการรดน้ำ และควบคุมโรค, ศัตรูพืช: นำอุปกรณ์มาติดตั้งเพื่อควบคุมการรดน้ำ เพื่อช่วยคำนวณปริมาณน้ำ ยาฆ่าแมลง และเวลาในการใช้ที่เหมาะสม เพื่อลดแรงงานและปริมาณที่สิ้นเปลือง
  • จัดเก็บฐานข้อมูล: จัดเก็บข้อมูลทั้งหมดที่ทำบนพื้นที่ของเรา เพื่อนำไปพัฒนาการเกษตร ปรับปรุงคุณภาพผลผลิตและควบคุมต้นทุนการผลิต

จากภาพรวมทั้งหมดจะเห็นภาพ IoT ที่เป็นตัวช่วยให้เหล่าเกษตรกรกลายเป็น Digital Farmerได้จากการทำงานอย่างแม่นยำขึ้น ด้วยข้อมูลทางการเกษตรจากดาวเทียม ระบบการจัดการดูแลผลผลิต ส่งผลให้การบริหารจัดการทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตไปอย่างมาก 

ถึงแม้ว่าในช่วงแรกของการเป็น Digital Farmer จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและการลงทุนมากขึ้น แต่เมื่อลองเปรียบเทียบถึงผลประโยชน์ในระยะยาวแล้วถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะไม่เพียงจะช่วยลดต้นทุนทั้งในแง่แรงงานและสิ่งบำรุงในการดูแลผลผลิตแล้ว ยังเป็นช่วยเก็บข้อมูลที่คุณสามารถนำไปต่อยอดเพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพ และยกระดับการเกษตรในพื้นที่ตนเองได้อีกด้วย