ยิ่งในยุคที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม Value-Based Economy ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญของการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน Thailand 4.0 โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (ตามข้อมูลอ้างอิงของ สำนักวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 2559)

ทว่า ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเรา คงต้องยอมรับว่าอย่างที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยกล่าวมื่อปี 2559 ไว้ว่า

“โครงสร้างเศรษฐกิจของเรามีปัญหา ความไม่เท่าเทียมกันขยายห่างขึ้นเรื่อยๆ ภาคที่แข็งแรง คือ ภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคเกษตรเตี้ยลงเรื่อยๆ สิ่งแวดล้อมเสียหาย ปีก่อนน้ำท่วม ปีนี้แล้ง ถ้าเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปอนาคตเมืองไทยมีปัญหาแน่นอน”

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการอภิปรายถึงทางเลือกทางรอดของเกษตรกรรมไทยในยุค 4.0 มาโดยตลอด กระทั่งแนวทางหนึ่งที่นำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เกษตรกรรมไทย คือ การนำเสนอเกษตรกรไทยจะปรับตัวให้เป็น Smart Farmer ซึ่งในเรื่องนี้ ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการคนกล้าคืนถิ่น ได้เคยกล่าวถึงแนวทางนี้ไว้ว่า

“จุดเริ่มต้นหรือที่มาส่วนหนึ่งของ Smart Farmer คือ การไม่ทำร้ายธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ทำแล้วต้องสบายขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่ยิ่งทำยิ่งเหนื่อย เช่น การมีพื้นที่เล็ก ๆ แต่สามารถออกแบบให้ปลูกแบบผสมผสานและเกื้อกูลกันได้ ต้องใช้เทคโนโลยีเป็น ซึ่งก็ถูกต้อง เพราะคนที่จะเป็น Smart Farmer ต้องเชื่อมโลกได้เอง Smart Farmer ต้องเข้าใจตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริหารจัดการ เข้าใจธรรมชาติ และเข้าใจเทคโนโลยี”

โดยเทคโนโลยีที่ ดร.สุมิท ได้กล่าวถึง นั่นคือ การประยุกต์ใช้ Internet of Things หรือ IoT ช่วยในการจัดการปลูกพืชในครัวเรือน ในพื้นที่ที่มีจำกัดให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจากประเด็นนี้นำไปเชื่อมโยงถึง Smart Farmer คือตัวเกษตรกรต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ในด้านเกษตรกรรมและเทคโนโลยี สามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ สามารถแก้ไขปัญหาได้ มีความคิด รู้จักการวางแผนงาน และเป็นคนที่รู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาเรื่องของแรงงานนั่นเอง

และในบทความเรื่อง “แนวทางการประยุกต์ใช้ Internet of Things (IoT) กับ Smart Agriculture 4.0” โดย ฐิติพงษ์ รักษาริกรณ์ นักศึกษาปริญญาโทสาขาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Engineering) วิทยาลัยนวัตกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก็ได้อธิบายถึงความจำเป็นและประสิทธิผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากเหล่าว่าที่ Smart Farmer สามารถประยุกต์เอาหลักการ IoT มาใช้กับการทำเกษตร ยุค 4.0 ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

http://www.electronicdesign.com/analog/3-ways-iot-revolutionizes-farming

ความหมายที่แท้จริงของ IoT คืออะไร

Internet of Things หรือ IoT นับเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ที่หมายถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ตู้เย็น โทรทัศน์ และอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยเครื่องมือต่างๆ จะสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้โดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งในอนาคตของผู้บริโภคทั่วไปจะเริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถควบคุมสิ่งของต่างๆ ทั้งจากในบ้าน และสำนักงานหรือจากที่ไหนก็ได้ เช่น การควบคุมอุณหภูมิภายในบ้าน การเปิดปิดไฟ ไปจนถึงการสั่งให้เครื่องรดน้ำต้นไม้ หรือแปลงเกษตรของตนเอง

แต่อย่างไรก็ตามยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จำเป็นต้องพัฒนาก่อน ถึงจะเกิดเป็น IoT ยกตัวอย่าง เช่น ระบบตรวจจับต่างๆ (Sensors) รูปแบบการ เชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ และระบบที่ฝังตัวอยู่ในคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งสำหรับเกษตรกรแล้ว มีคำแนะนำสำหรับการเริ่มต้นเดินบนเส้นทางของ Smart Farmer ด้วยการประยุกต์ใช้แนวทาง IoT ว่า ควรเริ่มที่ …

1. ควบคุมการรดน้ำ โดยคำนวณปริมาณน้ำและเวลาในการรดน้ำที่เหมาะสม

2. ควบคุมโรคและศัตรูพืช โดยเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมโรคศัตรูพืช ฉีดยาฆ่าแมลง ศัตรูพืช เมื่อจำเป็นเท่านั้น

3. ติดตามสภาพดิน ตรวจสอบคุณภาพดิน ความชื้น แร่ธาตุ ทำให้เกษตรกรทราบว่าควรปลูกพืชชนิดใด และปรับปรุงดินอย่างไรให้เหมาะสมกับการปลูกพืชนั้น

Aquaponics ต้นแบบการนำ IoT สร้างสมดุลธรรมชาติระหว่างพืชและปลา

Credit : https://www.theaquaponicsource.com/what-is-aquaponics/

เมื่อยังไม่ได้ลงมือทำ เกษตรกรหลายคนย่อมคิดว่าการปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรโดยประยุกต์ใช้แนวทาง IoT เป็นเรื่องยุ่งยาก ทว่า ที่ผ่านมา มีนวัตกรรมหลากหลายที่เกิดขึ้นในโลกเกษตรกรรม จากการปรับใช้ IoT อย่างถูกทาง ซึ่ง บทความของ ฐิติพงษ์ ได้หยิบยกนวัตกรรม Aquaponics ที่เชื่อมต่อกับแนวทาง IoT ช่วยเพิ่มมูลค่าให้การเลี้ยงปลาเชิงการค้านั้นง่ายขึ้น มาอธิบายเพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพของ IoT ไว้ดังนี้

ผู้ที่ชอบเลี้ยงปลาสวยงาม มักจะคุ้นเคยกับการปลูกพืชน้ำต่างๆ ในระบบบ่อกรอง บ่อบำบัด แต่มาระยะหลังๆ เริ่มมีการผสมผสานเทคโนโลยีในรูปแบบเดียวกับแนวทางและหลักการของระบบการปลูกพืชไร้ดิน ไฮโดรโปนิกส์ hydroponics โดยใช้ของเสียจากปลาที่ผสมอยู่ในน้ำ มาหมุนเวียนใช้ร่วมกับจุลินทรีย์ต่างๆ เพื่อเปลี่ยนของเสียให้เป็นธาตุอาหารที่พืชน้ำต้องการ นับเป็นทางเลือกใหม่ สำหรับการปลูกผักในระบบใหญ่กับบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ ในรูปแบบเชิงการค้า    

เมื่อได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมแล้ว ก็ได้เวลามาเชื่อมต่อกับหลักการของ IoT ในการจัดการการปลูกพืชน้ำโดยใช้เทคนิค Aquaponics (อควาโปนิกส์) ผ่านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน โดยเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง แบบ LAN และ WIFI เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานและการเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องสั่งการ

โดยในการเชื่อมต่อนั้นจะทำผ่านระบบ IoT Could: Cayenne IoT ReadyTM ซึ่งเป็น Server ให้บริการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการดูแลและการสั่งการต่างๆ ภายในระบบอีกที ทั้งนี้ในการทำงานส่วนใหญ่จะมีศูนย์ควบคุมหลัก คือ Raspberry Pi เป็นบอร์ดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่สามารถเชื่อมต่อกับจอมอนิเตอร์ คีย์บอร์ด และเมาส์ได้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำโครงงานทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ การเขียนโปรแกรม หรือเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน Spreadsheet Word Processing ท่องอินเทอร์เน็ต ส่งอีเมล หรือเล่นเกมส์ โดยติดตั้งบน SD Card บอร์ด Raspberry Pi ที่ถูกออกแบบมาให้มี CPU GPU และ RAM อยู่ภายในชิปเดียวกัน สามารถเขียนโปรแกรมเพื่อสั่งงานให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำงานได้ เช่น สั่งงานให้ Relay ทำงานตามเวลาที่กำหนด หรือ สั่ง ปิด-เปิด ปั้มน้ำ ตามเวลาที่ต้องการ เป็นต้น

ทั้งนี้ระบบ IoT Could: Cayenne Iot ReadyTM สามารถสร้างเงื่อนไข ให้การทำงานได้ พร้อมกับการแจ้งเตือนผ่านที่ SMS และ e-Mail ได้อีกด้วย เช่น การตั้งเวลาควบคุมการทำงาน โดยกำหนดให้ เวลา 06.00 น. สั่งการให้ปั๊มทำงานเพื่อรดน้ำแปลงผัก เมื่อถึงเวลา 06.20 น. สั่งการให้ ปั๊มน้ำหยุดทำงาน และกำหนดให้ส่งข้อความแจ้งเตือนว่าได้ปั้มน้ำเรียบร้อยแล้วผ่านทาง SMS และ e-Mail

นอกจากนั้น IoT Could: Cayenne IoT ReadyTM สามารถเก็บค่าการทำงานต่างๆ ของอุปกรณ์ และนำมาทำเป็นกราฟเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลง หรือดูความผิดปกติในการทำงาน เช่น การสังเกตความชื้นของดินถ้าหากความชื้นต่ำ เราสามารถสร้างเงื่อนไขการทำงานได้โดยการสั่งการให้ปั๊มทำงาน เมื่อดินมีความชื้นต่ำ ตามระดับที่เรากำหนดไว้ ได้ด้วย

 

ที่มา: https://www.salika.co/2018/05/16/iot-smart-agriculture/